Hear & Found
Hear & Found สตูดิโอออกแบบที่เน้นการผสมผสานและสร้างสรรค์สื่อ
Hear & Found
มีความตั้งใจในการใช้ดนตรีเป็นสื่อที่ร่วมสร้างพื้นที่ให้การรับฟัง 'เสียงที่ไม่เคยได้ยิน'
เพราะเสียงดนตรีไม่เคยมีพรมแดน เช่นเดียวกันกับที่จิตวิญญาณยังคงส่องประกายอยู่เสมอ และกำลังรอคอยให้คุณได้รับฟัง
ในวันนี้ เสียงดนตรีจะเป็นดังกุญแจที่เปิดพื้นที่ของหัวใจเราให้ขยายออกและกว้างขึ้น เมื่อเราเลือกที่จะเริ่มปิดตา เปิดหู เปิดใจ และมันจะจับมือให้คุณได้รับฟังเสียงที่เราอาจไม่คุ้นชิน หรือ เสียงในอดีตที่ครั้งหนึ่งเคยกู่ตะโกน แต่คุณอาจเลือกที่จะไม่ฟังมันมาก่อน
ขอต้อนรับเข้าสู่การแสดงที่เสียงทุกเสียงได้ร้อยเรียงจากการบันทึกในพื้นที่ธรรมชาติ จากผืนดินสู่ผืนน้ำ จากท้องทะเลสู่หุบเขา จากผู้คนและวัฒนธรรมในพื้นที่ห่างไกล ที่ครั้งหนึ่งเราอาจมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีต้นทุนเป็นมูลค่าที่ชัดเจน
แต่หากฟังให้ดี 'เสียงของชีวิต' ที่บรรเลงอยู่นั้น ไม่มีคุณค่าจริงหรือ?
ทุกเสียงในการแสดงนี้พวกเรานับมูลค่าเป็นต้นทุนและยินดีจ่ายเพื่อให้สิ่งเหล่านี้ถูกรับรู้ ถูกได้ยิน และถูกมองเห็น
Young Happy
Young Happy แพลทฟอร์มที่เชื่อมต่อคอมมูนิตี้วัยเก๋าทั่วประเทศ
ย้อนกลับไปหลายสิบปี
เจริญกรุงเคยเป็นย่านที่วัยรุ่นมาพบปะกันอย่างคึกคัก
ไม่ว่าจะชวนดูหนัง เล่นโบว์ลิ่ง กินของอร่อย
พร้อมกับเสน่ห์ของการรอคอย
ที่กว่าจะมาเจอกันได้
ก็ต้องนัดหมายล่วงหน้าเป็นอย่างดี
.
แน่นอนว่าไม่ทันใจเท่ายุคนี้
ที่ความสัมพันธ์สานต่อกันได้ตลอดเวลา
ทำให้เพียงการรอคอยคำตอบจากคนรักอยู่นานหลายนาที
ก็กลับกลายเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดใจ
.
แต่ไม่ว่าโลกจะหมุนเร็วขึ้นแค่ไหน
‘ความรัก’ ก็ยังคงทำให้คนทุกวัยหัวใจเต้นแรงไม่มีเปลี่ยน
และมีเพียงความหมายของมันที่ผันไปตามกาลเวลา
.
วันนี้คำว่ารักของคุณหมายถึงอะไร?
.
มาตอบคำถามนี้ในใจด้วยกันผ่านการแสดงจาก Young Happy
คอมมูนิตี้วัยเก๋าที่จะมาบอกเล่าความหมายของความรัก ความผูกพัน และความทรงจำที่ย่านเจริญกรุง
คริส โปตระนันท์
ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย กลุ่มอาสาที่ช่วยชีวิตในวิกฤตโควิด
ปีนี้ หากคุณได้ยินคำว่า "เส้นด้าย" คนบางคนอาจนึกถึงด้ายที่ไว้ใช้เย็บปักถักร้อย
ในขณะที่คนบางคน จะนึกถึงอาสาสมัครกลุ่มนึงที่ช่วยชีวิตคนในวิกฤตโควิดของปีที่ผ่านมา
คนภายนอกแบบเรามองเข้าไปคงคิดว่า พวกเค้าเก่งจัง ทำเรื่องยากๆแบบนี้ได้
เค้าต้องมีทุนหนาแน่ๆเลย
เค้าต้องมีหมอที่เป็นหัวกะทิ มีนักวิชาการที่เป็นเหมือนกุนซือช่วยวางแผน
แต่จริงแล้วๆ ในวันแรกที่เริ่มต้นทำเส้นด้าย
มันเริ่มต้นง่ายกว่านั้นเยอะเลย
คริส โปตระนันท์ เป็นพ่อบ้านใจกล้า ที่บ้าของเล่นคนนึง
และเค้าไม่ยอมแพ้ต่อความเฮงซวยที่อยู่ข้างหน้า
และเริ่มลงมือทำในสิ่งที่ง่ายที่สุด ที่วันนั้นเค้าทำได้ทันที
ไม่มีแผนการ ไม่มีเงินทุน ไม่มีเส้นสาย
แค่ทำในเรื่องเล็กๆ ง่ายๆ ก็เท่านั้น
ถึงจริงๆแล้วมันจะยากก็เถอะ
.
ดูซับซ้อนเนอะ
แต่จริงๆแล้ว ขอให้รู้ว่า เราทุกคน ก็สามารถเริ่มลงมือทำอะไรเล็กๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่นได้เหมือนกัน
นายเองก็เป็นได้นะ โดมิโน่ที่ไม่ยอมล้มน่ะ
ธนพันธ์ ชูบุญ
สูตินรีแพทย์ผู้สนับสนุนการทำแท้งปลอดภัย
ในบางครั้งการยุติการกำเนิดก็สำคัญและจำเป็นไม่น้อยกว่าการยืนยันจะให้มีชีวิตอยู่ต่อไป ในประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยศีลธรรมและเวรกรรม การตัดสินใจทำแท้งของผู้หญิงหนึ่งคนถูกร้อยติดยึดโยงกับมิติอื่นๆ มากมาย แม้กฎหมายจะอนุญาตให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการทำแท้งได้อย่างปลอดภัยแล้วก็ตาม ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ หรือหมอเป๊ะ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หมอสูติอารมณ์ดี และคุณพ่อของลูกสาววัยรุ่นสองคน ที่ใช้เวลาหลายปีเพื่อปลดล็อกตัวเอง ออกจากมายาคติของคำว่าศีลธรรมอันดี และจะมอบเวลาที่เหลือทั้งชีวิต มอบกุญแจดอกสำคัญที่จะมอบให้คนในสังคมได้ไขประตูหัวใจ ประตูความคิด คืนสิทธิเหนือเรือนร่างและอำนาจการตัดสินใจให้กับผู้หญิงทุกคน
ภาคภูมิ โกเมศโสภา
Co-founder บริษัท Reviv
ภูมิ หรือ ภาคภูมิ โกเมศโสภา Co-founder บริษัท Reviv ผู้ริเริ่มบริการรับซ่อมเสื้อผ้าออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่พยายามดึงความสัมพันธ์ของคนกับเสื้อผ้ากลับมา ผ่านการสร้างเรื่องราว การสร้างประสบการณ์ที่ทำให้ผู้คนมองเห็นคุณค่าในชุดที่เราสวมใส่ รวมทั้งพี่ภูมิ ยังมาชวนให้เราทุกๆคนเริ่มตั้งคำถามกับการบริโภคในปัจจุบันมากขึ้น
ยศพล บุญสม
ภูมิสถาปนิก ผู้ร่วมก่อตั้ง WePark
ทุกคนมีเสียงเหมือนกัน แต่บางคนมีเสียงที่ดังกว่า
ทุกคนต่างมีความต้องการ แต่บางความต้องการนั้นกลับถูกปิดกั้น
เมื่อคนออกเเบบไม่ได้คำนึงถึงผู้ใช้ ส่วนคนเป็นผู้ใช้ไม่ได้ออกเเบบ งานนั้นจะสร้างประโยชน์ได้อย่างไร?
.
ทุกคนล้วนต้องการอยากมีเมืองที่สวยงามเเละพื้นที่ที่สามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เเต่ที่ผ่านมานั้นการออกเเบบบ้านเมืองไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของผู้ใช้เท่าที่ควร
คุณค่าของการออกเเบบที่เเท้จริงต้องเริ่มจากการรับฟัง…รับฟังในปัญหา รับฟังความต้องการ รวมทั้งรับฟังความฝันของพวกเขาด้วย
.
ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง we!park จะมาช่วยปลดล็อกเสียงในใจคุณให้เห็นถึงคุณค่าของงานออกเเบบว่าต้องเกิดจากการฟังเสียงของคนทุกคนในพื้นที่
เพราะการออกเเบบที่มาจากเสียงของทุกคนนั้น นอกจากจะได้สร้างความสวยงามได้ตรงตามความต้องการของคนทุกคนในพื้นที่แล้วยังได้สร้างความสุขผ่านรอยยิ้มที่เสียงของพวกเขาได้ถูกรับฟัง
วิทิต เติมผลบุญ
ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนซี วาย เอฟ
'โตขึ้นอยากทำอาชีพอะไร?’
คำถามที่เด็กไทยหลายคนไม่มีโอกาสได้คิดคำตอบ
เพราะในระบบการศึกษาไทย
ความฝันถูกวางขอบเขตไว้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘การศึกษาภาคบังคับ’
ที่มาพร้อมกับบัตรผ่านที่ทุกคนจะได้รับเมื่อเรียนจบม.3 ที่มีชื่อว่า ‘ใบ ปพ.1
ภายใต้เงื่อนไขในชีวิตที่หลากหลาย ทำให้ใครบางคนหลุดออกจากระบบการศึกษา (Dropout) จนอาจพาพวกเขาไปสู่จุดดับฝันและความตั้งใจที่มาในรูปแบบ ‘สถานพินิจ’
ที่ไม่ได้เพียงขังกาย แต่กลับขังทั้งความฝันและเป้าหมายในชีวิตของพวกเขาต่อจากนี้ ลุงหน่อง - วิทิต เติมผลบุญ คือหนึ่งคนที่เชื่อว่าการศึกษาสามารถคืนชีวิตให้กับพวกเขาได้
และเชื่อว่าทุกภูมิปัญญาก็ควรได้รับการยอมรับไม่ต่างอะไรจากวิชาในห้องเรียน
จึงขอชวนทุกคนมาร่วมกันปลดล็อกโอกาสทางการศึกษาและต่อโอกาสในชีวิตของเด็กไทยไปด้วยกัน ผ่านการเดินทางของ ‘โรงเรียนมือถือ’ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกพิกัดในประเทศนี้กลายเป็นห้องเรียนได้ และทำให้การทำตามความฝันเล็กใหญ่กลับมาเป็นไปได้เสียที"
ศิระ ลีพิพัฒนวิทย์
ผู้ไม่ยอมจำนนต่อปัญหาคลอง
การทำความรู้จักปัญหาขยะในคลองว่ามาจากไหน เป็นจุดเริ่มต้นของความหวังในสายตาของตัวเองและคนอื่น ๆ ว่าปัญหานี้สามารถแก้ไขได้
ลองมาฟังเรื่องราวการรับมือกับขยะในคลอง ฉบับ DIY ของ 'ซัน ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์' ผู้ที่เป็นทั้งนักประดิษฐ์และผู้ไม่ยอมจำนนต่อปัญหาขยะในคลอง ที่จะมาเล่าการสืบหาต้นตอของขยะ การชวนคนรอบตัวมารู้จักปัญหานี้และแก้ไปด้วยกันผ่านศิลปะในการอธิบาย เขาไม่หยุดสรรหาเครื่องมือในการแก้ไข อย่างการทำทุ่นดักขยะ รวมไปถึง AI ที่หวังว่าจะช่วยหาต้นตอของขยะได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร คน ๆ นี้ก็จะ "ไม่หยุดทำ" เพราะเขาจะทำให้ความหวังในการคลายปมนี้ "เสียงดัง" กว่าเดิม
อรุณชัย นิติสุพรรัตน์
ผู้ก่อตั้งกลุ่ม I SEE U Contemplative Care
In loving memories
ในความทรงจำแห่งรัก
'เราเกิดมาเพื่ออะไร'
คำถามคลาสสิคที่อยู่ในใจของใครหลายๆคนที่อาจจะกำลังพบกับความว่างเปล่า หรือเผชิญกับความทุกข์จากชีวิต การค้นพบคุณค่าและความหมายของตัวเรา เหมือนยาปลอบประโลมจิตใจให้เรายังไปต่อกับชีวิต
'เราจะตายเพื่ออะไร'
คำถามที่ไม่ค่อยมีใครได้ใคร่ครวญเพื่อเรียนรู้ความหมายที่แท้จริงของมัน บ่อยครั้ง..บางคนก็ด่วนตายไปเสียก่อนจะได้เห็นความหมายของชีวิตตัวเองด้วยซ้ำ
เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นวัฏจักรธรรมชาติของชีวิต
สุดท้าย.. 'เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร' กันแน่
พี่ชัยจะชวนพวกเราร่วมเดินทางไปกับเรือแห่งชีวิตที่เขาได้ค้นพบความหมายในการจากไปของใครบางคน
ไครียะห์ ระหมันยะ
นักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และนักเคลื่อนไหว #SaveChana
ไครียะห์ ระหมันยะ คือนักกิจกรรมเยาวชนที่เคยเดินเท้ากว่าสี่สิบกิโลเมตรเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับอากาศของพวกเราทุกคน เธอเคยนอน 48 ชั่วโมงบนท้องถนนเพื่อทำอารยขัดขืนต่อการคำประชามติที่ไม่ฟังเสียงของประชาชนโดยแท้จริง และล่าสุด เธอและพี่น้องของเธอได้เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงคืนสัญญากับนายกรัฐมนตรี